วิธีการออมเงินที่ถูกต้อง (ฉบับคนออมเงินไม่อยู่)

วิธีการออมเงินที่ถูกต้อง
หลายคนมีความพยายามที่จะแบ่งเงินส่วนหนึ่งจากการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพื่อเก็บออมไว้ใช้จ่ายในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการออมเพื่อใช้ในการท่องเที่ยว การออมเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลในยามฉุกเฉิน การออมเพื่อซื้อบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแต่ละวัตถุประสงค์ก็มีแผนการออมที่แตกต่างกันออกไปตามจำนวนเงินที่คุณต้องการ
สำหรับบทความนี้จะนำเสนอวิธีการออมเงินที่ไม่ว่าใครก็สามารถทำตามได้ เพียงนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับการเงินของคุณ และใช้ความมีวินัยในการออมเงินของตนเอง เพื่อให้สามารถออมเงินได้ตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

สร้างวินัยการออมให้กับตนเอง

สำหรับคนที่ออมเงินไม่อยู่มักเกิดจากการวางแผนการออมที่ไม่มีเป้าหมายชัดเจนหรือขาดวินัยทางการออม เมื่อแบ่งเก็บไปแล้วก็ยังนำเงินส่วนนั้นออกมาใช้จ่าย การสร้างวินัยการออมเงินจึงเป็นเรื่องที่ควรมีและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อทำให้ยอดเงินออมของคุณบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ โดยสามารถทำได้ดังนี้

ตั้งเป้าหมายการออมให้ชัดเจน

เริ่มต้นวางแผนการออมเงินของคุณก่อน ว่าเป้าหมายของการออมคืออะไร ซึ่งจะช่วยกำหนดระยะเวลาการออมให้กับคุณได้
ออมระยะสั้น (ระยะเวลา 0 – 2 ปี) สำหรับเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ ซื้อของที่ราคาแพง หรือเพื่อเป็นเงินสำรองฉุกเฉิน
ออมระยะกลาง (ระยะเวลา 2 – 10 ปี) สำหรับเป็นเงินต้นในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ดาวน์รถ หรือเพื่อใช้ในการเริ่มต้นธุรกิจ
ออมระยะยาว (ระยะเวลามากกว่า 10 ปี) เพื่อเป็นเงินในอนาคตหลังเกษียณ หรือเพื่อการศึกษาของลูกในอนาคต
นอกจากนี้การตั้งเป้าหมายการออมยังช่วยให้คุณได้ทราบถึงยอดเงินที่ต้องแบ่งเก็บในแต่ละเดือน ว่าควรจะแบ่งเก็บในจำนวนเงินเท่าไหร่ ถึงจะทำให้คุณได้ยอดเงินตามแผนการออมที่วางเอาไว้

ตั้งใจทำอย่างต่อเนื่อง

การออมเงินในระยะแรกหลายคนมักจะพบปัญหาของการออมไม่อยู่ ด้วยการนำเงินออมออกมาใช้ทีละนิดจนหมดไปในที่สุด เนื่องจากยังขาดวินัยในการเก็บออมที่หนักแน่น ดังนั้น จึงควรเริ่มสร้างวินัยทางการออมที่มีประสิทธิภาพก่อนด้วยการทำอย่างเคร่งครัดและทำอย่างต่อเนื่องเช่น เมื่อคุณตั้งใจจะออมเงินแต่ละเดือนจำนวน 3,000 บาทแล้ว ก็ควรทำเป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้เกิดความเคยชินของการออมขึ้น และเหนือสิ่งอื่นใด คุณต้องหักห้ามใจการนำเงินออมออกมาใช้ถ้าไม่มีเหตุจำเป็น
นอกจากนี้ยังมีวิธีที่ช่วยให้คุณออมเงินได้ง่ายๆ นั่นคือ การเปิดบัญชีเงินฝากประจำ เพราะคุณจะไม่สามารถถอนเงินออกมาใช้ก่อนได้ อีกทั้ง ยังมีดอกเบี้ยเงินฝากที่เปรียบเสมือนรางวัลในการออมเงินอย่างมีวินัยให้อีกด้วย และคุณก็อาจตัดเงินจากบัญชีประจำวันมาออมไว้โดยอัตโนมัติในแต่ละเดือนเพื่อให้คุณขยับเข้าใกล้เป้าหมายได้ในทุกๆ เดือน
ออมอย่างไรให้ยั่งยืน

ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย

อย่าเพิ่งถอดใจถ้าคุณจะต้องทำรายรับรายจ่ายในแต่ละวันของคุณ เพราะความยุ่งยากที่ต้องมาคอยจดค่าใช้จ่ายลงในสมุดอยู่ตลอดเวลา แต่การทำบัญชีรายรับรายจ่ายนั้นสำคัญต่อการออมอย่างแน่นอน และในปัจจุบันมีแอปพลิเคชันที่ช่วยในการทำรายรับรายจ่ายที่คุณไม่ต้องปวดหัวไปกับการจดบันทึกลงสมุด แถมยังแสดงสถิติและค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายของคุณได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
บัญชีรายรับ-รายจ่ายใช้ดูว่าพฤติกรรมการใช้เงินในชีวิตประจำวันของคุณว่าเป็นอย่างไร และผลลัพธ์ของการทำบัญชีนี้จะบอกความสามารถในการออมของคุณ ว่าเงินที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันนั้นสมเหตุสมผลกับเงินที่แบ่งออมไปหรือไม่ ถ้าทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายแล้วพบว่าเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวันไม่พอใช้ คุณอาจจะต้องลดปริมาณของเงินที่แบ่งเก็บลง หรืออาจจะต้องปรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันลงเพื่อเงินเก็บในจำนวนที่ต้องการ

แบ่งเก็บอย่างน้อย 10 – 20% จากรายได้

หลังจากได้เงินเดือนหรือมีรายได้จากช่องทางอื่นเข้ามา สิ่งแรกที่ควรทำคือ การหักเงินไปเก็บ 10 – 20% ของรายได้ในช่วงเดือนนั้นทันที เนื่องจากการรอเก็บจากเงินที่เหลืออยู่ในภายหลังอาจจะไม่เหลือเงินเก็บเลยก็ได้ โดยวิธีการเก็บเงินไม่ควรเก็บไว้กับบัญชีปกติที่คุณใช้อยู่ คุณควรมีบัญชีเงินฝากแยกเก็บโดยเฉพาะ (ซึ่งควรเป็นบัญชีเงินฝากประจำ) จะเป็นการช่วยหักห้ามใจในการใช้เงินในส่วนที่ต้องการเก็บไปจนหมด
เช่น ถ้าคุณมีรายรับต่อเดือน 30,000 บาท ให้หักไปเข้าบัญชีเงินออม 20% ซึ่งอยู่ที่ 6,000 บาท คุณจะเหลือเงิน 24,000 บาทในการใช้สอยในเดือนนั้นๆ
สำหรับการออมเงินฝากเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 6,000 บาทนี้ เมื่อครบ 1 ปีคุณจะไม่ได้รับเพียงแค่ 72,000 บาทเท่านั้น แต่จะมีดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มเข้ามาด้วย ซึ่งจำนวนดอกเบี้ยนั้นจะเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด

ทำงบรายจ่ายประจำเดือน

นอกจากการเก็บออมทั่วไปแล้ว หากจะเก็บออมให้ยั่งยืนได้จริง เราจะต้องควบคุมรายจ่ายด้วย ซึ่งทำได้โดยการตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายที่เราต้องใช้ในแต่ละเดือน
วิธีการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำเดือนนั้น จะต่อยอดจากการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพราะบัญชีรายรับ-รายจ่ายจะช่วยให้คุณรู้ว่าในแต่ละเดือนคุณมีรายรับเท่าไรและมีรายจ่ายทางใดบ้าง และแน่นอนว่า ให้คุณตั้งงบประมาณการออมไว้ก่อนรายจ่ายอื่นๆ ตามเป้าหมายหรือเพียง 10 – 20% ก็ได้ จากนั้นเงินที่เหลือจึงค่อยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ
ยกตัวอย่างเช่น รายได้ 20,000 บาท แบ่งเงินออม 20% หรือ 4,000 บาท เหลือ 16,000 บาท จึงค่อยแบ่งเป็นค่าเช่าบ้าน 5,000 บาท ค่าอาหาร 5,000 บาท ค่าเดินทาง 1,500 บาท ค่าโทรศัพท์ 500 บาท และอื่นๆ อีก 4,000 บาท

สรุป

สำหรับคนที่ออมเงินไม่อยู่หรือใครที่กำลังมองหาวิธีการออมเงินอยู่ มาเริ่มได้ด้วยการสร้างวินัยการออมให้กับตนเอง ด้วยการตั้งเป้าหมายการออมและตั้งใจทำอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้คุณเกิดความเคยชินไปกับการออมเงินด้วยตนเอง และออมให้ยั่งยืนด้วยการแบ่งออมก่อนใช้และควบคุมรายจ่ายด้วยการตั้งงบประมาณรายเดือน คุณก็สามารถบรรลุเป้าหมายการออมได้ และสำหรับคนที่มีเป้าหมายออมเพื่อบ้าน ก็สามารถปรึกษาวิธีการเก็บเงินซื้อ/สร้างบ้านกับโรงเรียนการเงินของ ธอส. ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้คำแนะนำคุณในเรื่องนี้โดยเฉพาะได้

18 thoughts on “วิธีการออมเงินที่ถูกต้อง (ฉบับคนออมเงินไม่อยู่)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *