🌳 สาระความรู้เกี่ยวกับงานไม้ 🌳

สาระความรู้เกี่ยวกับงานไม้ Carpentry
การเลือกใช้ไม้ให้เหมาะกับการใช้งาน
ชนิดของไม้
1. ไม้เนื้ออ่อน ได้แก่ ไม้ที่มีเนื้อค่อนข้างเหนียว ทำการเลื่อยหรือตกแต่งได้ง่าย เนื้อไม้มีลักษณะมีสีซีดจาง น้ำหนักเบา ขาดความแข็งแรงทนทาน รับน้ำหนักได้ไม่ดี เช่น ไม้ยาง ไม้ฉำฉา ไม้กะบาก ฯลฯ
2. ไม้เนื้อแข็ง ได้แก่ ไม้ที่มีเนื้อแข็งปานกลาง ทำการเลื่อย ไสกบ ตกแต่งได้ยาก ลักษณะเนื้อไม้มีสีค่อนข้างเข้มหรืออาจจะค่อนไปทางสีแดง มีความแข็งแรงทนทาน เช่น ไม้ตะเคียน ไม้ชิงชัน ไม้เต็ง ไม้มะม่วง ฯลฯ
3. ไม้เนื้อแกร่ง ได้แก่ ไม้ที่มีเนื้อแกร่ง ทำการเลื่อยตกแต่งได้ยากมาก ลักษณะเนื้อไม้เป็นมันในตัว เนื้อแน่น ลายละเอียด มีน้ำหนักมาก มีสีเข้มจัดจนถึงสีดำ มีความแข็งแรงทนทานดีมาก เหมาะกับงานที่ต้องใช้ความแข็งแรงเยอะ เช่น ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้เกลือ ฯลฯ
การเลือกไม้
1. การเลือกไม้มาใช้ในงานประณีต ไม้ที่เลือกมาใช้งานประเภทนี้ เป็นไม้ที่ไม่ต้องรับน้ำหนักหรือต้านแรงมากเหมือนไม้ที่ใช้งานประเภทแรก แต่งานประเภทนี้จะนำไม้ไปประกอบเป็นรูปร่างต่างๆ เช่น บาน ประตู หน้าต่าง เครื่องเรือน ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ หรือครุภัณฑ์ต่างๆ ที่จะทำอย่างประณีตเรียบร้อยและต้องการความสวยงามมากกว่าความแข็งแรง เป็นงานที่ทำได้ยากและต้องใช้ฝีมือ
หลักการเลือกไม้มาใช้งานประเภทนี้
– ไม้นั้นจะต้องได้จากแก่นไม้ที่สมบูรณ์ คือ จากต้นไม้ที่เจริญเติบโตเติมที่เหมาะสมตามสภาพดินฟ้าอากาศของถิ่นนั้นๆเป็นไม้ที่ตายยืนต้น
– เป็นไม้ที่หดตัวแล้ว คือเป็นไม้ที่ผึ่งแห้งอยู่ตัวดีแล้ว เมื่อนำมาประกอบสำเร็จรูปจะไม่เกิดอ้าออกจากกันหรือบิดโค้งเสียความงาม
– ไม้เนื้อละเอียดเหนียวแน่น มีแนวตรง ไสกบตกแต่งได้ง่ายเรียบร้อยขัดมันและชักเงาได้ดี
– มีสีสม่ำเสมอกันทุกแผ่น และทุกๆแผ่นมีสีเหมือนกันด้วย
– มีลายสวยงามคล้ายๆกัน เพื่อเพลาะไม้เป็นแผ่นเดียวกันได้
– เป็นไม้ที่มีตาน้อย ตาไม้ไม่เสีย ไม่มีรอยแตกร้าว เป็นแผล เป็นรอยทะลุ
– ไม้ที่เป็นรอยผุ ด่างหรือเน่าเปื่อย (ไม้ที่ยังไม่ได้ไสสังเกตยาก) ทดลองโดยใช้ค้อนเคาะไม้ดีจะมีเสียงแน่นแกร่ง ถ้าไม่ผุหรือเสีย เปราะ ไม่เหนียว มีเสียงดังผลุๆ เลื่อยไม่ติดคลองเลื่อย ไสกบขี้กบจะป่น
– ราคาไม่แพงจนเกินไป
2. การเลือกมาใช้ในงานรับน้ำหนักโดยตรง ได้แก่ ไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างที่ไม่ต้องการความประณีตมากนัก เช่น การก่อสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ไม้จำพวกนี้ต้องทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับน้ำหนักและต้านทานแรงต่าง ๆ มากกว่าความสวยงาม ความแข็งแรง จึงเป็นข้อแรกที่จะต้องคัดเอาไม้ที่แข็งแรงเท่าที่จะสามารถทำได้ คือ ต้องเป็นไม้ที่เนื้อแน่น แข็งแกร่ง เหนี่ยว ไม่เปราะง่าย ควรเลือกไม้แก่นหรือไม้ที่มีอายุเหมาะแก่การตัด ไม่มีรอยชำรุดเสียหาย เช่น เป็นตา ผุ แตกร้าว ปิดงอ คด โค้ง และเป็นไม้ที่ผ่านการผึ่งมาได้ที่พอเหมาะแก่งานประเภทนี้
ไม้อัด ไม้ที่ผลิตขึ้นโดยกรรมวิธีทางอุตสาหกรรมด้วยการนำไม้ เช่น ไม้สัก ไม้ยางที่ไม่มีตำหนิมากนักไปต้มด้วยไอน้ำให้สารเคมีในเนื้อไม้ออกเสียก่อน และทำให้ไม้อ่อนตัวลงแล้วนำเข้าเครื่องปอกๆ ออกมาเป็นแผ่นบางๆ และนำไปอัดด้วยกาวโดยวางเสี้ยนไม้ขวางสลับกันเป็นชั้นๆ อาจเป็น 3,5,7 ชั้นตามความหนาของไม้อัดโดยทั่วไปมีความหนาตั้งแต่ 4-20 มม. ขนาด 3 ฟุต ´ 6 ฟุต และ 4 ฟุต ´ 8 ฟุต
การเลือกไม้อัด
1. สีของไม้อัดต้องสม่ำเสมอตลอดทั้งแผ่น
2. มีความเรียบแต่ไม่ลื่นทาสีได้ทุกชนิด
3. มีน้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายได้สะดวก
4. เหมาะสมกับงานที่จะใช้
ไม้เนื้ออ่อน
1. ไม้ฉำฉา ลักษณะคุณสมบัติ ไม้เนื้อหยาบไม่แน่นมีสีค่อนข้างจาง(ขาว) มีลวดลายสวยงาม มีน้ำหนักเบา จัดอยู่ในประเภทไม้เนื้ออ่อน ทำการเลื่อย ผ่า ไสกบ ตกแต่งชักเงาได้ง่าย
ประโยชน์ ใช้ทำลัง กล่องใส่วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ปัจจุบันนิยมนำมาใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ต่าง ๆ หรือเพื่อใช้ตกแต่งต่าง ๆ
2. ไม้สัก ลักษณะคุณสมบัติ เป็นไม้ที่มีคุณภาพดีที่สุด นอกจากความแข็งแรงอย่างเดียวเท่านั้นที่มีน้อยไปหน่อย แต่ก็แข็งแรงพอที่จะใช้ได้ เป็นไม้สูงขนาดใหญ่ จะทำการโคนไม้อายุประมาณ 150 ปี เป็นไม้ที่ขึ้นเป็นหมู่ในป่าเบญจพรรณ เนื้อไม้มีสีเหลืองนานเข้าจะกลายเป็นสีน้ำตาลแก่ มีกลิ่นหอม มีน้ำมันในตัว มีเสี้ยนตรง เนื้อหยาบไม่สม่ำเสมอกัน กรำแดดกรำฝนไม่ค่อยผุง่าย หดตัวน้อย ไม่มีอาการบิดหรือแตกร้าว มอดปลวกไม่ค่อยรบกวน เมื่อเลื่อยออกจะเห็นลายได้ชัดเจน เลื่อย ผ่า ไสกบ ตกแต่ง ชักเงาได้ง่าย เป็นไม้ที่ผึ่งให้แห้งได้รวดเร็ว น้ำหนักต่อลูกบาศก์ฟุตประมาณ 35 – 45 ปอนด์ ยังแบ่งเป็น 3 ชนิด คือ สักทอง สักหิน สักขี้ควาย ไม้สักทองมีลวดลายสวยงามมาก ปัจจุบันมีราคาค่อนข้างแพง
ประโยชน์ ใช้ในการสร้างสิ่งที่ต้องทำอย่างประณีต ต้องการความสวยงามและทนทานต้องรับน้ำหนักหรือต้านทานมาก เช่น ทำประตู หน้าต่าง วัสดุ เครื่องใช้ เครื่องเรือนต่าง ๆ และยังเป็นสินค้าออกที่ทำรายได้ปีละไม่น้อยทีเดียว
3. ไม้ยาง ลักษณะและคุณสมบัติเป็นไม้เนื้ออ่อนและหยาบ มีสีน้ำตาลปนแดง ใช้ในที่ร่มทนทานพอใช้ แห่งช้า ยืดหดง่าย เลื่อยผ่าง่าย บิดงอตามดินฟ้าอากาศ ถ้าไสตอนไม้สด ๆ อยู่จะไม้เรียบดีนัก เสี้ยนมักจะฉีกติดกันเป็นขุยออกมา ทำให้ขัดหรือทาน้ำมันไม่ค่อยดี ใช้ในการสร้างรับน้ำหนักมาก ๆ ไม่ได้ ใช้ในที่ต้องการกรำแดดกรำฝนมากไม่ได้นอกจากจะทาสีน้ำมันป้องกันไว้ น้ำหนักต่อ 1 ลูกบาศก์ฟุตประมาณ 40-50 ปอนด์
ประโยชน์ ใช้ทำบ้านเรือน เครื่องเรือนเฉพาะที่มีราคาถูก ๆ สร้างบ้านใช้ทำ ฝา ฝ้า หรือส่วน ที่ไม่ต้องรับน้ำหนัก นิยมใช้กันเพราะราคาถูก หาง่าย
ไม้เนื้อแข็ง
1. ไม้แดง คุณลักษณะและคุณสมบัติ แดง หรือกร้วม คว้าย เป็นไม้ประเภทเนื้อแข็งมีลำต้นขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ทั่วไปในป่าเบญจพรรณ เนื้อไม้มีสีแดงเรื่อๆหรือสีน้ำตาลแกมแดง เสี้ยนเป็นลูกคลื่น ละเอียดพอประมาณ แข็ง เหนียว มีความแข็งแรงทนทาน มีลายสวยงาม ทำการเลื่อย ไสกบ ตกแต่งตอกตะปูได้ยาก เมื่อทำเสร็จแล้วมีความเรียบร้อยสวยงามชักเงาได้ดีมีน้ำหนักต่อ 1 ลูกบาศก์ฟุตประมาณ 55 – 65 ปอนด์
ประโยชน์ ใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เช่น ทำ เสา ขื่อ คาน ตง กระดานพื้น สะพาน เกวียน เรือ หมอนรถไฟ เครื่องเรือน เครื่องมือทางกสิกรรม ด้ามเครื่องมือต่างๆเป็นต้น
2. ไม้เต็ง ลักษณะคุณสมบัติ เป็นไม้ขนาดใหญ่มีอยู่ทั่วไป เมื่อเลื่อยไสแล้วระยะแรกจะเป็นสีน้ำตาลอ่อน ทิ้งไว้นานจะเป็นสีน้ำตาลแก่แกมแดง เสี้ยนหยาบสับสน ทำให้ไสกบตกแต่งได้ยาก แต่ไม้แข็งและเหนียว เหมาะแก่การสร้างส่วนที่รับน้ำหนักได้ดี มีความแข็งแรงทนทานดีมาก ทนต่อการใช้กรำแดดกรำฝน เนื้อไม้มักจะมีรอยร้าวเป็นเส้นผมปรากฏหัวไม้มักแตกเก่ง ฉะนั้นไม้เต็งจึงมักจะไม่ค่อยใช้ในการสร้างสิ่งประณีต น้ำหนัก 1 ลูกบาศก์ฟุตประมาณ 60 – 70 ปอนด์
ประโยชน์ ใช้กับงานตรากตรำต้องการความแข็งแรงทนทาน เช่น ทำเก้าอี้นวม เก้าอี้ชิงช้า สะพาน หมอนรางรถไฟ ใช้ในการสร้างบ้านเรือนที่ต้องรับน้ำหนักมากๆ เช่น ตง คาน กระดานพื้น ไม้โครงหลังคา และด้ามเครื่องมือกสิกรรม
3. ไม้รัง ลักษณะและคุณสมบัติ ไม้รังหรือไม้เรียง เป็นไม้ขนาดกลางถึงใหญ่ขึ้นเป็นหมู่ ๆในป่าแดง เนื้อไม้มีสีน้ำตาลเหลือง เสี้ยนสับสน เนื้อหยาบแข็งแรงทนทานมาก เลื่อย ไสกบ ตกแต่งค่อนข้างยาก น้ำหนักต่อ 1 ลูกบาศก์ฟุต ประมาณ 50 – 60 ปอนด์
ประโยชน์ ใช้กับงานประเภทที่ต้องการรับแรง เช่นทำเสา หมอนรางรถไฟ สร้างบ้านเรือน การก่อสร้างต่างๆ ทำรถ เรือ เครื่องมือกสิกรรม เนื่องจากสาเหตุที่ไม้นี้แข็งแรงและทนทานมากจึงนิยมใช้การก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรงทนทานลักษณะเหมือนกับไม้เต็ง มีจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป
ไม้เนื้อแกร่ง
1. ไม้มะค่าโมง ลักษณะคุณสมบัติ ไม้มะค่าโมงหรือไม้มะค่าใหญ่ หรือไม้มะค่าหลวง เป็นไม้เนื้อแกร่งลำต้นใหญ่แต่ไม่สูงนัก ขึ้นตามป่าดงดิบ และป่าเบญจพรรณ เว้นทางภาคใต้ เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลเหลือง เสี้ยนค่อนข้างสน เนื้อหยาบมีริ้วแทรกแข็งเลื่อย ไสกบค่อนข้างยาก ถ้าแห้งดีแล้วจะตกแต่งง่าย ขัดและชักเงาได้ดี น้ำหนักต่อ 1 ลบ.ฟุตประมาณ 60 ปอนด์
ประโยชน์ ใช้ทำเสา ไม้หมอนรางรถไฟ และใช้ในงานก่อสร้างต่างๆเป็นไม้ชนิดให้ปุ่มมีลายงดงาม ราคาแพง ใช้ทำพวกเครื่องเรือน เครื่องใช้ เช่น ตู้ โต๊ะ เก้าอี้รับแขก เป็นต้น
2. ไม้ประดู่ชิงชัน ลักษณะคุณสมบัติ ไม้ประดู่ชิงชันหรือพยุงแกม หรือ พยุงแดง เชียงใหม่เรียกว่า เกิดแดง ภาคอีสานเรียกว่า ชิงชัน ภาคเหนือเรียกว่า ดู่ลาย เป็นไม้ประเภทเนื้อแข็ง ลำต้นขนาดปานกลางถึงขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่ในป่าเบญจพรรณทั่วไป เนื้อไม้มีสีม่วงแก่ สีเส้นแทรกสีดำอ่อนหรือสีแก่กว่าพื้น เสี้ยนมักสับสนเป็นริ้วแคบๆ เนื้อละเอียดปานกลาง แข็ง เหนียวมาก แข็งแรงทนทาน ไสกบ ตกแต่ง ชักเงาได้ดี ตอกตะปูได้ยาก เมื่อทำเสร็จแล้วจะมีความเรียบร้อยสวยงามเป็นมันดี เมื่อชักเงาแล้วจะมีลายมีสีสรรสวยงามมาก น้ำหนัก 1 ลูกบาศก์ฟุต ประมาณ 67 – 70 ปอนด์
ประโยชน์ ใช้ทำพวกเครื่องเรือน เช่นตู้ โต๊ะ เก้าอี้รับแขก เก้าอี้โยก ด้ามเครื่องมือ รางกบ เกวียน รถ แกะสลัก ทำหวี เป็นต้น
ขอขอบคุณ : http://www.siamwoodmall.com/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *